(แฟ้มภาพซินหัว : ฟาร์มโคนมแห่งหนึ่งในรัฐไอโอวาของ สหรัฐฯ วันที่ 16 ต.ค. 2019)
ลอสแอนเจลิส, 7 ธ.ค. (ซินหัว) -- ผลการศึกษาล่าสุดซึ่งได้รับการเผยแพร่เมื่อวันศุกร์ (6 ธ.ค.) ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงทางเคมีเพียงแค่จุดเดียวที่เกิดขึ้นกับโปรตีนที่พบบนพื้นผิวของไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ก่อโรครุนแรง (HPAI) สายพันธุ์ย่อยสายพันธุ์เอช5เอ็น1 (H5N1) ซึ่งกำลังระบาดในฟาร์มโคนมของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน สามารถทำให้ไวรัสชนิดนี้แพร่เชื้อในมนุษย์ได้ง่ายขึ้น
ปัจจุบันยังไม่พบว่าไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ที่พบในโคนมในปัจจุบันสามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้ อย่างไรก็ตามพบรายงานการติดเชื้อในผู้ที่สัมผัสกับนกป่า สัตว์ปีก โคนม และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ที่ติดเชื้อไวรัสดังกล่าว
ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดต่างๆ จับตัวกับเซลล์ผ่านโปรตีนที่อยู่บนพื้นผิวของไวรัสที่เรียกกันว่าฮีแมกกลูตินิน (HA) โดยทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยสคริปปส์ (Scripps Research) ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียงในสหรัฐฯ ได้นำไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ที่แยกเชื้อได้จากเคสผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส H5N1 สายพันธุ์ (clade) 2.3.4.4b รายแรกของสหรัฐฯ มาตรวจสอบว่าการกลายพันธุ์ในระดับยีนของฮีแมกกลูตินินนั้นจะส่งผลต่อการจับตัวกันของโปรตีนกับตัวรับ (receptors) ที่เป็นชนิดสัตว์ปีกและตัวรับชนิดมนุษย์อย่างไรบ้าง
ผลการวิจัยพบว่าการกลายพันธุ์ของกลูตามีนเพียงตัวเดียวไปเป็นลิวซีน (กรดอะมิโนชนิดหนึ่ง) ที่ตำแหน่ง 226 ของฮีแมกกลูตินินของไวรัส ก็เพียงพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความจำเพาะจากนกไปเป็นมนุษย์ได้
สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (NIH) ซึ่งเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยข้างต้น ระบุว่าผลการศึกษานี้ซึ่งได้รับการเผยแพร่ในวารสารไซแอนซ์ (Science) เมื่อวันศุกร์ (6 ธ.ค.) ตอกย้ำถึงความจำเป็นในการเฝ้าระวังและติดตามไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ก่อโรครุนแรง สายพันธุ์ย่อยสายพันธุ์ H5N1 อย่างต่อเนื่องและเข้มงวด เพื่อตรวจจับการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่อาจส่งผลให้ไวรัสชนิดนี้แพร่กระจายในมนุษย์ได้ง่ายขึ้น